ASEAN Connectivity 2025
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดที่กรุงเวียงจันทน์ โดยไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้คือ การจัดทำแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน หรือ Master Plan on Asean Connectivity 2025 คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์แผนดังกล่าวดังนี้
ภาพรวม
แผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน ฉบับแรกได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2010 โดยมีโครงการต่างๆ เพื่อจะเชื่อมประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ประชาคมอาเซียนมีบูรณาการอย่างเต็มตัว มีการเชื่อมโยงกันในด้านสินค้า บริการ เงินทุน และคน โดยในแผนแม่บทฉบับนั้น ได้แบ่งการเชื่อมโยงเป็น 3 ด้าน
ด้านที่ 1 คือการเชื่อมโยงด้านกายภาพ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมกันทางการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการสร้างถนนและทางรถไฟ
ด้านที่ 2 คือการเชื่อมโยงกันทางด้านสถาบัน
ด้านที่ 3 คือการเชื่อมโยงกันในระดับประชาชน
สำหรับวิสัยทัศน์ Asean Connectivity 2025 จะเป็นการต่อยอด จากแผนฉบับปี 2010 ว่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยในแผน 2025 จะเน้น 5 เรื่องด้วยกัน ดังนี้
หนึ่ง เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
สอง นวัตกรรมดิจิทัล โดยมีการคาดการว่า เทคโนโลยีดิจิทัลในอาเซียนจะมีมูลค่าถึง 625,000 ล้านเหรียญ ภายในปี 2030 ซึ่งคิดเป็น 8 % ของ GDP อาเซียน โดยในปี 2013 ได้มีการจัดตั้ง ASEAN Broadband Corridor ไปเรียบร้อยแล้ว และในอนาคต ภายในปี 2025 อาเซียนจะพยายามจัดตั้ง ASEAN Single Telecom Market ขึ้น
สาม เรื่องโลจิสติกส์ จะมีการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการคมนาคมขนส่งในอาเซียน โดยจะเน้นการจัดตั้ง ASEAN Single Window ขึ้นโดยเร็ว
สี่ การสร้างมาตรฐานอาเซียนขึ้นมา
ห้า การเคลื่อนย้ายประชาชน โดยจะต้องมีการกำจัดอุปสรรคของการเดินทางของคนในอาเซียน ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวกันในอาเซียน โดยปรับปรุงเรื่องวีซ่า และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนกันของประชาชนคนในทุกระดับ
สำหรับเรื่องที่น่าจะมีความสำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงอาเซียน ทั้งสำหรับอาเซียนและสำหรับไทย คือการเชื่อมโยงกันทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง
ถนน
เรื่องแรกคือ เรื่องของการสร้างถนนเชื่อมอาเซียน ซึ่งโครงการสำคัญที่สุดคือ การสร้างเครือข่ายทางหลวงอาเซียนหรือ ASEAN Highway Network เครือข่ายทางหลวงดังกล่าว จะทำให้มีการค้าขายกันมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายการขนส่งและการค้า เชื่อมห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น
โครงการขนาดใหญ่คือระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก East - West Economic Corridor ซึ่งจะมีการสร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมระหว่าง พม่า ไทย ลาว และ เวียดนาม จากเมาะลำใยในพม่า มาเมียวดีเข้าอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านพิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร และข้ามแม่น้ำโขงเข้าลาวที่สะหวันนะเขต จนไปสุดทางที่เมืองดานัง เวียดนาม นอกจากนี้ ก็มีระเบียงเศรษฐกิจ เหนือ - ใต้ ถนนเชื่อมจีนตอนใต้ พม่า ลาว ไทย มาเลเซีย ไปสุดทางที่สิงคโปร์ และยังมีระเบียงเศรษฐกิจใต้หรือ Southern Economic Corridor โดยจะสร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมจากเมืองทวายในพม่าเข้าไทยที่กาญจนบุรี ต่อไปถึงมาบตาพุด กรุงพนมเปญ และไปสุดทางที่นครโฮจิมินห์ ซิตี้ ประเทศเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ยังมีช่วงที่ขาดอยู่ โดยเฉพาะถนนจากพม่ามาไทย และถนนจากไทยไปลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ทางรถไฟ
สำหรับเส้นทางรถไฟนั้น โครงการหลักคือ เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ - คุณหมิง Singapore- Kunming Rail Link
โดยขณะนี้ มีอยู่ 3 เส้นทาง
เส้นทางที่ 1 เป็นเส้นทางจากคุณหมิงเข้าฮานอย ลงมาถึงโฮจิมินท์ซิตี้ แล้วต่อเข้ากัมพูชามาไทย ลงไปถึงสิงคโปร์ แต่เส้นนี้ก็มีช่วงที่ขาด ยังไม่ได้สร้าง คือจากเวียดนามไปกัมพูชา และจากกัมพูชามาไทย
สำหรับเส้นทางที่ 2 จากคุณหมิงเข้าพม่า จากพม่าเข้าไทยที่ด่านเจดีย์สามองค์ เข้ากาญจนบุรีลงไปถึงสิงคโปร์ แต่เส้นนี้ก็มีช่วงที่ขาดคือ จากคุณหมิงเข้าพม่า และจากพม่ามาไทย
สำหรับเส้นที่ 3 เป็นเส้นใหม่ที่จีนพยายามผลักดัน ซึ่งจะเป็นเส้นที่สั้นที่สุดจากคุณหมิงมาสิงค์โปร์ โดยจะเป็นเส้นทางรถไฟจากคุณหมิงตัดลงมาเวียงจันทน์ และจากเวียงจันทน์เข้าไทยที่หนองคายลงมากรุงเทพฯและลงไปจนถึงสิงคโปร์ แต่เส้นที่ 3 ก็ยังมีช่วงที่ขาด โดยเฉพาะช่วงจากคุณหมิงมาเวียงจันทน์ ยังไม่ได้สร้าง
ในแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน 2025 อาเซียนก็พยายามจะเดินหน้าสร้างเส้นทางทั้งถนน รถไฟ ดังกล่าวให้เสร็จ
การคมนาคมทางน้ำ
สำหรับการคมนาคมขนส่งทางน้ำเชื่อมอาเซียน จะมีบทบาทสำคัญในการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะสำหรับประเทศอาเซียนตอนบน คือ CLMV กับ ไทย โดยมีเส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำ แม่น้ำสายต่างๆรวมกันแล้ว กว่า 50,000 กิโลเมตร แต่โครงสร้างพื้นฐานยังขาดการพัฒนา
และสำหรับการขนส่งทางทะเล อาเซียนได้กำหนดท่าเรือไว้ 47 แห่ง ที่จะเป็นท่าเรือสำคัญสำหรับการสร้างเครือข่ายการขนส่งทางทะเลในอาเซียน อาจกล่าวได้ว่า การขนส่งทางทะเลเป็นรูปแบบการขนส่งที่สำคัญที่สุดของการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มีเพียงสิงคโปร์และมาเลเซียเท่านั้น ที่มีการพัฒนาการขนส่งทางทะเลที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวอาเซียนก็จะพยายามจัดตั้งASEAN Single Shipping Market ขึ้น
การคมนาคมขนส่งทางอากาศ
สำหรับการคมนาคมขนส่งทางอากาศนั้น มีการเปิดเสรีที่เราเรียกว่า Open Sky Policy ในอาเซียน ขณะนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ได้มีสายการบินที่มีเที่ยวบินเชื่อมโยงเมืองต่างๆในอาเซียนอยู่มากมาย นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเชื่อมโยงอาเซียน ที่สะดวกง่ายดาย โดยไม่ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากนัก อาจจะมีก็แต่เพียงการสร้างสนามบินและพัฒนาสนามบินให้ทันสมัย นอกจากนี้อาเซียนก็มีการจัดทำความตกลงร่วมมือกันในการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง ASEAN Single Aviation Market
การเชื่อมโยงในระดับประชาชน
ซึ่งในเรื่องนี้ ได้มีความพยายามสร้างความเข้าใจกันระหว่างประชาชน โดยเฉพาะในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยมีความพยายามจัดทำหลักสูตรอาเซียนขึ้นใช้ในโรงเรียน ที่เรียกว่าASEAN Curriculum Sourcebook
นอกจากนี้ ก็มีความพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในอาเซียน โดยการจัดทำ ASEAN Lane ในสนามบินของประเทศสมาชิกอาเซียน และพัฒนาให้มีการจัดทำ single visa ขี้น
และความคืบหน้าในการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ 8 สาขา ก็มีการจัดทำ Mutual Recognition Arrangements หรือ MRA ขึ้น แต่ก็ยังมีการบ้านที่ต้องทำอีกมาก ที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือเป็นไปอย่างเสรีจริงๆ
กล่าวโดยสรุป ASEAN Connectivity 2025 กำลังมีแผนที่จะพัฒนาการเชื่อมโยงอาเซียนเข้าหากันในหลายมิติ ทั้งทางด้านกายภาพ การสร้างถนน ทางรถไฟ การคมนาคมขนส่งทางน้ำและทางอากาศ
สำหรับประเทศไทยนับว่าเราโชคดีมาก ที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน ดังนั้น การเชื่อมโยงอาเซียน ไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งตามระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น จะต้องผ่านไทยทั้งหมดทุกเส้น ไทยคือสี่แยกอาเซียน ไทยจึงมีศักยภาพอย่างมากที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน และไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงอาเซียนในอนาคตได้อย่างแน่นอน
http://www.mfa.go.th/asean/en/organize/62216-ASEAN-Connectivity.html